คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการนำเงินไปฝากธนาคารเพราะเชื่อว่าปลอดภัย เงินต้นไม่หาย แถมได้ดอกเบี้ยอีกต่างหาก และในปัจจุบันธนาคารต่างๆ ก็ออกผลิตภัณฑ์มากมายเพื่อดึงดูดให้เรานำเงินไปฝาก ยิ่งฝากมากยิ่งได้รับผลประโยชน์มาก โดยไม่เคยบอกเราเลยว่า เราจะเสียอะไรไปบ้างหากเรานำเงินออมทั้งหมดไปฝากไว้กับธนาคาร วันนี้เราจะมาเปิดเผยความลับทั้ง 4 กัน
1. ยิ่งฝากนานเงินยิ่งหาย
จากความเชื่อที่ว่าฝากแบงค์เงินต้นไม่หาย แถมได้ดอกเบี้ยสบายจะตาย เรื่องนี้มันถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะเงินต้นไม่หาย แต่มูลค่าเงินลดลงตลอดเวลาเนื่องจากเงินเฟ้อ
แล้วเงินเฟ้อคืออะไร??? เงินเฟ้อก็คือ ภาวะที่ราคาของสินค้าต่างๆ สูงขึ้น ทำให้มีเงินเท่าเดิมแต่ซื้อสินค้าได้น้อยลง หรือสรุปง่ายๆ คือมีเงินเท่าเดิม แต่มูลค่าของเงินลดลง เงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยอยู่ที่ประมาณ 3% แต่ดอกเบี้ยเงินฝากทั่วไปในปัจจุบันมักจะต่ำกว่า 3% เมื่อหักลบกันแล้ว มูลค่าของเงินก็ยังคงน้อยลงอยู่ดี
2. เสียโอกาสในการให้เงินทำงานแทนเรา
ข้อดีของเงินฝากคือ สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและยามฉุกเฉินได้ทันที (ไม่รวมเงินฝากที่มีเงื่อนไขพิเศษ) แต่การฝากเงินมากเกินความจำเป็นทำให้เราเสียโอกาสนำเงินส่วนเกินไปลงทุนสร้างผลตอบที่ดีให้กับเราในอนาคต
หลายคนกลัวคำว่าลงทุน เนื่องจากมีความไม่แน่นอนและอาจขาดทุนได้ แต่จากสถิติพบว่าการลงทุนในระยะเวลาที่ยาวนานขึ้น โอกาสขาดทุนก็จะน้อยลงตามไปด้วย ดังนั้นยิ่งเริ่มลงทุนเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีเวลาลงทุนนานขึ้น โอกาสขาดทุนน้อยลง และเงินสามารถทำงานสร้างรายได้แทนเราได้นานขึ้นด้วย
3. ความฝันต่างๆ อาจจะไม่เป็นความจริง
ทุกคนมีความฝันของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเกษียณก่อนกำหนด เที่ยวรอบโลก มีบ้านหลังใหญ่ ส่งลูกเรียนเมืองนอก ความฝันเหล่านี้จะเป็นจริงได้จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมาก หลายคนคิดว่าพยายามเก็บเงินให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะเอาเงินไปทำฝันให้เป็นจริงในวันข้างหน้า แต่การทำเช่นนี้อาจทำให้ความฝันเป็นจริงได้ยากมากหรือไม่มีวันเป็นจริงเลย จากเรื่องเงินเฟ้อในข้อแรก เราจะเห็นว่าฝากเงินในแบงค์ ยิ่งทำให้มูลค่าเงินลดลงทุกวัน เก็บเท่าไหร่ก็ไม่พอค่าใช้จ่ายอยู่ดี ดังนั้นควรแบ่งเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเรา และนำผลตอบแทนไปทำความฝันให้เป็นจริงในวันข้างหน้า
4. มีความเสี่ยงที่จะไม่ได้เงินคืนหากแบงค์ล้ม
เราเชื่อว่าฝากเงินไว้กับธนาคารไม่ต้องกลัวเงินต้นหาย แต่ในความเป็นจริงถ้าแบงค์เกิดเจ๊งขึ้นมาอย่างเช่นในปี 40 เราจะเอาเงินคืนจากใคร หลายคนบอกว่ามีพระราชกฤษฎีกาคุ้มครองเงินฝากยังไงก็ได้คืนทั้งหมด
มันใช่!!! ถ้าเป็นเมื่อก่อน
แต่ปัจจุบันพระราชกฤษฎีกาคุ้มครองเงินฝาก ไม่ได้คุ้มครองเงินเต็มจำนวนอีกต่อไป โดยวงเงินคุ้มครองจะค่อยๆ ลดลง ตามรูป
ที่มา: variety.teenee.com