BREAKING NEWS

อียูให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทย

อียูให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทย

ให้6เดือนแก้ไขหากทำไม่สำเร็จสูญ‘นับหมื่นล.’
“อียู” ไม่ไว้หน้าไทย ออกประกาศแจกใบเหลืองสินค้าประมงไทยอย่างเป็นทางการแล้ว “ปลัดเกษตร” แจงยังไม่ กระทบการส่งออกสินค้าประมงไทยไปอียูปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท เหตุอียูให้เวลาแก้ตัว 6 เดือน แต่หากแก้ไขไม่สำเร็จจะส่งผลให้ไทยโดนใบแดง ห้ามส่งสินค้าประมงไปอียูโดยอัตโนมัติ ด้านภาคเอกชนประสานเสียงมั่นใจรัฐบาลใช้เวลา 6 เดือนแก้ไขปัญหาให้อียูพอใจได้แน่
อียูลงดาบเล่นงานไทยให้ใบเหลืองเรื่องประมงแล้ว ทั้งนี้ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ ได้เรียกนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรฯ นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง นายฉันทานนท์ วรรณเขจร ผู้อำนวยการสำนักงานการเกษตรต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมด่วน รับมือกรณีสหภาพ ยุโรป (อียู) ออกประกาศให้ใบเหลืองสินค้าประมงไทยอย่างเป็นทางการ ในเวลาประมาณ 17.00 น. ตามเวลา ประเทศไทย หลังจากก่อนหน้านี้ อียูได้พิจารณาว่าสินค้าประมงไทยเข้าข่ายการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (ไอยูยู) ตามหลักเกณฑ์ของอียู
นายชวลิตกล่าวว่า สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศประจำอียู ได้แจ้งให้ทราบว่า อียูประกาศให้ใบเหลืองแก่สินค้าประมงไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าเข้าข่ายไอยูยูตามหลักเกณฑ์ของอียู การออกใบเหลืองอย่างเป็นทางการของอียูในครั้งนี้ จะยังไม่มีผลทันทีต่อการส่งออกสินค้าประมง ไทยไปตลาดอียู ซึ่งมีปริมาณเฉลี่ยปีละ 200,000 ตัน มูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 30,000 ล้านบาท เนื่องจากอียูจะให้เวลาประเทศไทยปรับปรุงกฎหมาย และมาตรการต่างๆ ในการควบคุมการทำประมง เป็นระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างนี้ อียูจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประเมิน ความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยเป็นระยะ ก่อนที่จะมีการพิจารณาอีกครั้งในช่วงเดือน ต.ค.นี้ ว่า จะประกาศถอดใบเหลืองหรือออกใบแดงห้ามไทยส่งออกสินค้าประมงทั้งหมดไปอียู
นายชวลิตกล่าวด้วยว่า ใบเหลืองที่อียูประกาศให้ไทยอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ไม่ได้เกิดจากอียูไม่พอใจมาตรการแก้ปัญหาไอยูยูของรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่เป็นผลจากการทำประมงของไทยในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ เร่งเดินหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาไอยูยู ไปพร้อมกับแจ้งเตือนและทำความเข้าใจกับอียูอย่างต่อเนื่อง ใน 6 มาตรการ ที่ไทยกำลังเดินหน้าอย่างจริงจัง ประกอบด้วย 1.การ จดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง 2. การควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง 3. การจัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ (วีเอ็มเอส) 4. การปรับปรุง ระบบการตรวจสอบย้อนกลับ 5. ปรับปรุงพระราชบัญญัติการประมงและกฎหมายลำดับรอง และ 6. จัดทำแผนระดับชาติในการป้องกันสินค้าไอยูยู
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลการส่งออกสินค้าประมงไทยไปอียู โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ในปี 57 ไทยส่งออกสินค้าทะเลไปอียูปริมาณ 148,995 ตัน มูลค่า 26,292 ล้านบาท ในปี 56 ส่งออกปริมาณ 176,939 ตัน มูลค่า 31,072 ล้านบาท และปี 55 ส่งออกปริมาณ 189,904 ตัน มูลค่า 33,782 ล้านบาท
ด้าน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมการแก้ไขปัญหาประมงไทยมานานพอสมควร มีการตั้งคณะกรรมการที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีการออกกฎหมายเพิ่มเติมหลายฉบับ ซึ่งอาจจะประกาศใช้ไม่ทันในช่วงนี้ แต่เชื่อว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะดีขึ้นแน่นอน
นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า การที่ไทยโดนใบเหลืองอย่างเป็นทางการครั้งนี้ ถือว่ารู้กันล่วงหน้ามาก่อนแล้ว เพราะเดิมมีกำหนดจะให้ใบเหลืองเป็นทางการตั้งแต่เดือน ก.พ. แม้ว่าจะโดนใบเหลือง แต่ไทยยังมีเวลาแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 6 เดือน ถ้าไม่สำเร็จจะโดนใบแดง อียูงดนำเข้าสินค้าประมงไทยโดยอัตโนมัติ หากโดนใบแดงไม่รู้ว่าจะแก้ตัวกับอียูได้หรือไม่ เพราะกุ้งส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกุ้งเลี้ยง ไม่ได้จับมาจากทะเล แต่อียูก็ยังโจมตีว่า แม้กุ้งไทยเป็นกุ้งเลี้ยง แต่อาหารที่นำมาเลี้ยงกุ้งทำมาจากปลาป่น ซึ่งได้มาจากการทำประมงไอยูยูเหมือนกัน เชื่อว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะแก้ปัญหาไอยูยูได้สำเร็จภายใน 6 เดือน
ขณะที่นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า กรณีอียูแจกใบเหลืองให้ไทยครั้งนี้ จะยังไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประมงและการส่งออกสินค้าประมงไทยไปยุโรป หรือไม่น่าจะมีการยกเลิกหรือลดคำสั่งซื้อ เพราะผู้ประกอบการไทยมีความใกล้ชิดกับผู้นำเข้ายุโรปมาก จึงสามารถพูดคุยกันได้ แต่อาจจะส่งผลกระทบบ้าง ในส่วนของภาพลักษณ์สินค้าไทย แต่จากความตั้งใจของรัฐบาลในการเร่งรัดแก้ปัญหา และออกกฎหมายเกี่ยวกับการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย เชื่อว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้า น่าจะทำให้อียูไม่ให้ใบเหลืองไทย ส่วนปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อสินค้าประมงอย่างแท้จริงคือ การที่อียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าไทย และค่าเงินบาท ที่แข็งค่ามากกว่าคู่แข่ง
เย็นวันเดียวกัน นายเสข วรรณเมธี อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า การออกประกาศเตือนนี้ ไม่มีผลต่อการส่งออกสินค้าประมงของไทยไปอียู ไทยรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจออกประกาศเตือนดังกล่าว ซึ่งสะท้อนว่าอียูมิได้ตระหนักถึงความมุ่งมั่นและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรมของไทยในการแก้ปัญหาไอยูยู รวมถึงความร่วมมือระหว่างไทยกับอียูที่มีมายาวนาน และเรียกร้องให้อียูพิจารณาการดำเนินการของไทยในเชิงเทคนิคตามหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่มีด้วยความโปร่งใส เที่ยงตรง อย่างไม่เลือกปฏิบัติและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่แท้จริงในไทย ไทยจะสานต่อความร่วมมือกับอียู เพื่อให้ไทยออกจากกลุ่มที่ถูกประกาศเตือน รวมทั้งแก้ไขและป้องกันการทำประมงแบบไอยูยูต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
นายเสขกล่าวว่า รัฐบาลไทยตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาทรัพยากรทางทะเล และกำหนดให้การแก้ไขปัญหาการประมงแบบไอยูยู เป็นปัญหาสำคัญระดับชาติที่ต้องแก้ไข โดยความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีกรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เร่งดำเนินตามแผนงาน 6 แผนงาน คือ 1.ปรับปรุง พ.ร.บ.การประมงและกฎหมาย 2.จัดทำแผนระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงไอยูยู 3.เร่งจดทะเบียนเรือประมงและออกใบอนุญาตทำการประมง 4.พัฒนาระบบควบคุมและเฝ้าระวังการทำประมง โดยเฉพาะการควบคุมการเข้าออกท่าของเรือประมง 5.จัดทำระบบติดตามตำแหน่งเรือ และ 6.ปรับปรุงระบบการตรวจสอบย้อนกลับ
ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ปัญหานี้เกิดมาตั้งแต่ปี 2548 เราพยายามแก้ไขปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่เขายังไม่พอใจ จึงต้องตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจมาดูแลโดยเฉพาะ ซึ่งต้องดูว่ามีเรื่องใดบ้างที่เราตกหล่น เราเข้ามาแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง ไม่ได้ท้อถอย “เรารู้อยู่แล้วว่าเขาจะให้ใบเหลือง แต่ก็ยืดมาหลายเดือน ช่วงที่ผ่านมา เราก็ออกกฎหมายและปรับปรุงข้อบังคับต่างๆ รวมถึงการตรวจเรือ การปล่อยเรือ เราทำทุกอย่างที่คิดว่าเพียงพอ แต่อาจจะยังไม่เพียงพอ”
นายฤทธิรงค์ บุญมีโชติ ประธานกลุ่มธุรกิจกุ้ง บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือทียูเอฟ ผู้ส่งออกอาหารทะเลระดับโลก กล่าวว่า แม้ใบเหลืองของอียูยังไม่ห้ามนำเข้าสินค้าประมงไทย แต่ที่ผ่านมาผู้ค้าของไทยได้ส่งสัญญาณเตือนมาตลอดว่า หากไทยไม่สามารถแก้ไขได้ตามที่ทางการอียูกำหนด ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องหันไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาไอยูยูได้ในที่สุด เพราะรัฐบาลนี้ทำงานเยอะมาก เยอะกว่าทุกรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ต้องทุ่มงบประมาณไปจ้างประชาสัมพันธ์และล็อบบี้ยิสต์ระดับโลกเข้ามาช่วยการเจรจาและสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เข้าใจกับอียูและสหรัฐฯได้ตรงจุด
สำหรับการออกใบเหลืองของอียูแก่ไทยนั้น สำนักข่าวรอยเตอร์และเอพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 เม.ย. คณะกรรมาธิการยุโรป องค์กรบริหารของสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีสมาชิก 28 ประเทศ ออกแถลงการณ์เตือนไทย ผู้ส่งออกอาหารทะเลใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกว่า ล้มเหลวในการกวาดล้างการประมงที่ผิดกฎหมาย และขู่ว่าจะห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากไทย ถ้าไม่แก้ปัญหาภายใน 6 เดือน แถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ไทยได้รับ “ใบเหลือง” โทษฐานล้มเหลวในการรับรองแหล่งที่มาและความถูกต้องตามกฎหมายของสินค้าประมงที่ส่งออกไปยังอียู ขณะนี้ไทยมีเวลาเพียง 6 เดือนในการแก้ไขข้อบกพร่อง ในระบบสอดส่องตรวจตรา ควบคุม และลงโทษ ในอุตสาหกรรมประมงของตน
นายคาร์เมนู เวลลา กรรมาธิการด้านสิ่งแวดล้อม กิจการทางทะเลและการประมงของอียู กล่าวว่า ด้วยการใช้อิทธิพลทางการตลาด อียูจะทำให้ผู้เกี่ยวข้อง ที่สำคัญปฏิบัติตามข้อกำหนดของอียู คณะกรรมาธิการอียูจะทำงานร่วมกับทางการไทย เพื่อช่วยปรับปรุงมาตรฐานด้านกฎหมาย พร้อมทั้งระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว อียูนำเข้าผลิตภัณฑ์ด้านการประมงจากไทยถึง 145,907 ตัน รวมมูลค่า 642 ล้านยูโร (ประมาณ 22,470 ล้านบาท)
ด้านกลุ่มรณรงค์ต่างๆ อาทิองค์กร พิว แชริทะเบิล ทรัสต์, มูลนิธิความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม, องค์กรโอเชียนา และกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) แสดงความยินดี ที่อียูแถลงเตือนไทย โดยนายสตีฟ เทรนต์ ผู้อำนวยการบริหารของกองทุนเพื่อความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทางการไทยควบคุมเรือประมงของตนน้อยมาก การกระทำหลายอย่างที่ผิดกฎหมายได้สร้างความเสียหายต่อปริมาณสัตว์ทะเลและสิ่งแวดล้อมทางทะเล
แถลงการณ์ของอียูฉบับเดียวกัน ยังยกเลิกคำเตือนต่อเกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ หลังทั้งสองประเทศนี้ปฏิรูประบบกฎหมายจนสามารถแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมายได้ ด้วยการใช้มาตรการที่รับผิดชอบ ปรับแก้ระบบกฎหมาย และเปลี่ยนไปใช้วิธีการเชิงรุกต่อสู้กับการประมงที่ผิดกฎหมาย
รอยเตอร์รายงานด้วยว่า ตั้งแต่ปี 2553 อียูซึ่งเป็นผู้นำเข้าสินค้าประมงรายใหญ่ที่สุดในโลก เริ่มใช้มาตรการต่างๆจัดการกับประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันการจับสัตว์ทะเลมากเกินไป อาทิ การสอดส่องควบคุมน่านน้ำของตน เพื่อตรวจจับเรือประมงที่ไม่มีใบอนุญาต และใช้มาตรการลงโทษต่างๆ เพื่อยับยั้งการประมงที่ผิดกฎหมาย ส่วนข้อมูลของคณะกรรมาธิการอียูระบุว่าสัตว์ทะเลระหว่าง 11-26 ล้านตัน หรืออย่างน้อยร้อยละ 15 ของปริมาณที่จับได้ทั่วโลกในแต่ละปี คิดเป็นมูลค่าระหว่าง 8,000-19,000 ล้านยูโร (ประมาณ 280,000-665,000 ล้านบาท) ได้มาจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย
 
สงวนลิขสิทธิ์ © ข่าว ไทย